Thursday, March 7, 2013

พายุหิมะถล่มมะกันต่อเนื่อง สภาฯงดประชุม ไฟดับกระทบคน2.5แสน

พายุหิมะถล่มมะกันต่อเนื่อง สภาฯงดประชุม ไฟดับกระทบคน2.5แสน
พายุหิมะรุนแรงเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐฯ แล้วเมื่อวันพุธ หลังถล่มหลายรัฐทางเหนือ ทำให้เที่ยวบินต้องยกเลิกนับพันเที่ยว รวมถึงทำให้เกิดไฟดับกระทบคนนับแสนคน... สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ว่า พายุหิมะรุนแรงลูกล่าสุด เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐฯ แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้อาคารสำนักงานของรัฐบาลหลายแห่งต้องปิดทำการ การประชุมสภาล่างบางวาระถูกยกเลิก รวมถึงสายการบินต่างๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 1,100 เที่ยว และเกิดไฟดับกระทบประชาชนนับแสนคน   พายุลูกดังกล่าวเริ่มสร้างความปั่นป่วนให้สหรัฐฯ ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา โดยพัดถล่มพื้นที่ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ทำให้ สนามบินโอแฮร์ และสนามบินชิคาโกมิดเวย์ ในชิคาโก รวมถึงสนามบินในเมืองมินนีแอโพลิส ในรัฐมินนิโซตา ต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินรวมกว่า 1,465 เที่ยว โรงเรียนหลายร้อยแห่งต้องปิดทำการ ขณะที่ถนนหลวงหลายสายถูกหิมะปกคลุมจนกระทบการจราจร มีผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 ราย ส่วนในวันพุธของสหรัฐฯ ซึ่งเวลาช้ากว่าประเทศไทยราว 12 ชม. พายุทำให้เกิดหิมะตก แต่ไม่มากเท่าที่คาดเอาไว้ และละลายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอากาศอบอุ่นกว่าที่ประมาณการณ์ ทำให้สำนักงานของรัฐบาลซึ่งปิดทำการในวันพุธ สามารถเปิดทำการได้ในวันพฤหัสบดี   อย่างไรก็ดี ภูมิภาคอื่นไม่โชคดีเหมือนวอชิงตัน ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ สำนักงานทางทะเลประกาศเตือนให้ประชาชนเก็บรถยนต์ไว้ในพื้นที่สูง และให้เตรียมตัวรับมือกับเหตุน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี ส่วนสะพานเบย์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกของรัฐแมร์รีแลนด์กับเมืองบอลทิมอร์ ถูกสั่งห้ามใช้งาน เนื่องจากมีลมกระโชกแรง ความเร็วกว่า 96 กม./ชม. ก่อนจะเปิดอีกครั้งในช่วงเย็น ที่รัฐเวอร์จิเนีย ผู้ว่าฯ บ๊อบ แมคดอนเนล ประกาศภาวะฉุกเฉิน และส่งทหาร 50 นายออกช่วยประชาชนเก็บกวาดถนนที่ถูกหิมะท่วมสูงถึง 50 ซม. ขณะที่ชาวรัฐเวอร์จิเนีย กว่า 200,000 คน ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟดับ เช่นเดียวกับชาวรัฐนิวเจอร์ซีย์ ราว 40,000 คน ทั้งนี้ พยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ ระบุว่า พายุลูกนี้จะมุ่งหน้าสู่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ และจะทำให้เกิดลมแรงและหิมะตกในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงอาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ชายฝั่งของรัฐนิวอิงแลนด์ด้วย.  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive